• 02322593217
Lifestyle
รู้จักกับ Service charge

รู้จักกับ Service charge

ทุกครั้งที่เราไปรับประทานอาหารที่ร้านค้าห้างร้านต่างๆ นั้น ทุกๆ ท่านเคยสังเกตบิลเก็บเงินค่าอาหารกันบ้างมั้ยครับว่า…จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากส่วนของค่าอาหารมาเพิ่มอีกด้วย ซึ่งค่าที่เราจะพาทุกๆ ท่านไปศึกษากันในบทความนี้นั้นก็คือ “ค่า Service Charge” นั้นเองครับ จะเป็นอย่างไรข้อมูลแบบไหนกันบ้างนั้น…เราไปชมกันดีกว่าครับ

ค่า ”Service Charge” คืออะไรกันนะ?

“เซอร์วิสชาร์จ” คือ ค่าบริการที่ผู้ประกอบการธุรกิจ เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการเพิ่ม นอกเหนือจากค่าสินค้า ซึ่งผู้ใช้บริการต้องจ่ายทุกครั้งที่เข้ามาใช้บริการ โดยแต่ละร้านจะมีอัตราการเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเซอร์วิสชาร์จจึงไม่เหมือนกับทิป (สินน้ำใจ) ที่ผู้ใช้บริการให้ตามความพึงพอใจ และมอบให้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ในบางร้านค้านั้น…อาจจะระบุค่า Service charge ขั้นต่ำเอาไว้ด้วยแล้วเช่นกัน ดังนั้น ควรสอบถามให้เรียบร้อยก่อนสั่งอาหารเสมอกันนะครับ

จริงๆ แล้วร้านอาหารควรเก็บ ”Service Charge”  หรือไม่

ต้องบอกว่าการเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ประกอบการ ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่ที่มีเซอร์วิสชาร์จก็เพื่อเป็นรายได้ที่นำมาแบ่งให้แก่พนักงานบริการในแต่ละเดือน อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการให้กับพนักงานมีรายได้เพิ่มขึ้น  ทำให้มีกำลังใจในการทำงานและตั้งใจบริการลูกค้าให้ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามหากร้านอาหารของคุณมีการเก็บเซอร์วิสชาร์จเมื่อไหร่ ความคาดหวังของลูกค้าที่จะได้บริการที่ดีเยี่ยมจะเพิ่มตามมาทันที ดังนั้นผู้ประกอบการต้องหมั่นอบรมพนักงาน  และรักษามาตรฐานการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเต็มใจที่จะจ่ายเซอร์วิสชาร์จ

ค่า ”Service Charge” ร้านอาหาร ควรคิดอย่างไร

อัตราการเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จที่เหมาะสม ตามกฎหมายที่กรมการค้าภายในกำกับอยู่ คือ ต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นอัตราราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบตามสากลและยอมรับได้ นอกจากนี้หากร้านใดที่เก็บเซอร์วิสชาร์จเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ จะเข้าข่ายคิดค่าบริการสูงเกินจริง เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งก็มีโทษปรับ 140,000 บาท จำคุก 7 ปี หรือทั้งจำและปรับ

แล้วลูกค้าไม่จ่ายได้ไหม 

ต้องบอกได้เลยว่า “สามารถทำได้” เพราะกรมการค้าภายในได้ระบุไว้ว่า ผู้ประกอบการร้านค้าต้องแสดงราคาต่อหน่วย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ต้องมีเลข อารบิกกำกับอยู่ด้วย รวมถึงการจะเก็บเซอร์วิสชาร์จนั้น ทางร้านต้องมีป้ายข้อความ ‘ภาษาไทย’ แจ้งอัตราค่าเซอร์วิสชาร์จ ในลักษณะที่ชัดเจน เปิดเผย และอ่านได้โดยง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ หากไม่มีการแจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนครบถ้วน ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการจ่ายเซอร์วิสชาร์จได้ และถือว่าผู้ประกอบการมีความผิด โดยมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

แนวทางสำหรับร้านอาหารที่ต้องการโน้มน้าวให้ลูกค้า support ค่า Service charge โดยจะไม่มีปัญหาผ่านหลัง

►ควรแจ้งการเรียกเก็บเซอร์วิสชาร์จ ด้วยข้อความ ‘ภาษาไทย’ ไว้บริเวณหน้าร้าน ป้ายในร้าน ป้ายตั้งโต๊ะอาหาร หรือในเล่มเมนู เพื่อแสดงความโปร่งใส ให้ลูกค้าเห็นได้ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการใช้บริการ

►เซอร์วิสชาร์จควรเรียกเก็บตามความเหมาะสม โดยต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์

►ดูแลความสะอาดในร้านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบริเวณพื้น บนโต๊ะ เก้าอี้ รวมถึงภาชนะต่างๆ เช่น จาน ช้อม ส้อม และแก้วน้ำ เป็นต้น อีกทั้งภายในครัวยังต้องดูแลความสะอาดให้ดีเพื่อความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสบายใจและความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้

►รักษามาตรฐานของอาหารให้สด อร่อย และสะอาดอยู่เสมอ โดยเลือกใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่มีคุณภาพ และพยายามหา ‘จุดขายเฉพาะ’ หรือ Unique Selling Point (USP) เช่น เมนูประจำเทศกาล หรือ เมนูซิกเนเจอร์ ที่อร่อย เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำกับร้านไหน ก็จะช่วยสร้างความตื่นเต้นให้แก่ลูกค้า และสร้างการจดจำได้ด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับความรู้เกี่ยวกับค่า “Service charge” ที่พวกเราได้เห็นและอ่านกันไปในบทความข้างต้นนี้แล้ว คิดว่าเป็นประโยชน์ที่ดีทั้งต่อเราและคนรอบข้างด้วยเช่นกันนะครับ รู้ไว้จะได้ไม่หัวร้อน 55+ เสียหน้าสาธารณะครับ